กว่าจะมาเป็น “เจ้าสาว” ยืนสง่าเคียงคู่กับเจ้าบ่าวจับมือกระหนุงกระหนิงพร้อมรอยยิ้มหน้าฉากถ่ายภาพพร้อมกับยกมือขอบคุณแขกที่มาร่วมงานนั้น ผู้มีประสบการณ์อย่างแอดมินต้องบอกว่า “ไม่ง่าย” อย่างที่คิด อันนั้นในมุมมองของ “เจ้าสาว” ที่ได้สัมผัสหลากหลายอารมณ์ ความรู้สึก ตั้งแต่รู้ว่าจะแต่งงาน จนมาถึงวันแต่งงาน อย่างไรก็ตามแอดมินได้มีประสบการณ์ในอีกมุมมองของการเป็นผู้จัดงานและได้สัมผัสเจ้าสาวแสนสวยในวันก่อนงานแต่งงานและวันที่เจ้าหญิงเหล่านี้ได้ยืนอย่างสง่างามบนพรมสีแดง ควงแขนเจ้าชายของเขา ทำให้รู้ว่ามีหลายเรื่องมากมายที่ครุ่นคิดติดอยู่ในสมองตลอดเวลาและไม่ง่ายเลยที่จะฉีกยิ้มโดยปราศจากความกังวลใดๆ
วันนี้แอดมินจะมาเล่าแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้เป็นไอเดียพร้อมทิปส์เล็กๆให้เจ้าสาวของเราได้คลายกังวลจากความเครียดต่างๆ แม้รู้ว่ามันค่อนข้างยากสำหรับการปล่อยวาง เพราะทุกคนต่าง “คาดหวัง” ให้เกิดความสมบูรณ์แบบ และ “ปราศจาก” ความผิดพลาดทั้งหมู่ทั้งมวล เอาเป็นว่าเราลองมาแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดกันนะคะว่า “กว่าจะเป็น…เจ้าสาว” ต้องผ่านบทพิสูจน์ทางจิตใจอะไรกันมาบ้าง โดยทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนเกิดจาก “ความกลัว” และ “ความกังวล” ทั้งสิ้น
1. ครอบครัว
สำหรับคนไทยเชื้อสายไทยและเชื้อสายจีน ให้ความสำคัญกับเรื่องของครอบครัวค่อนข้างมาก ยิ่งเมื่อได้ป่าวประกาศว่าจะจัดงานแต่งงานแล้ว เครือญาติสนิทมักจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลค่อนข้างมาก ตั้งแต่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา รวมถึงเหล่านี้พี่น้อง ยิ่งบ้านไหนมีญาติผู้ใหญ่เยอะ ต้องบอกเลยว่าให้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือไว้ได้เลย ตั้งแต่วันแรกจนวันงานแต่งงาน ที่ไม่ได้กล่าวถึงคุณพ่อ คุณแม่ เนื่องจากว่าสมัยนี้ คุณพ่อคุณแม่หัวสมัยใหม่มักตามใจลูกสาว ลูกชาย อยู่แล้ว และไม่ค่อยกดดันลูกเท่าไหร่ แถมยังสนับสนุนให้ลูกทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำอีกด้วย
ว่ากันด้วยเรื่องความกดดันภายในสองครอบครัว ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความท้อแท้และเป็นปัญหาบาดหมางใจกันมาหลายคู่ จนยกเลิกการแต่งงานไปด้วยมองว่าเป็น “ความเห็นแก่ตัว” หรือ “เจ้ากี้เจ้าการ” ถ้าต้องมาร่วมครอบครัวเป็นญาติสนิทกันต้องมีปัญหาให้รำคาญหัวใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ หรือบางคู่ถึงขนาดจบงานแต่งงานไปก็ตัดญาติขาดมิตรกับบ้านใดบ้านหนึ่งไป เพียงเพราะไม่ต้องการให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดใจ
สำหรับเรื่องครอบครัวแอดมิน มีวิธีรับมือง่ายๆ คือ ขอให้คุณได้คุยกับคู่บ่าวสาวของคุณกำหนดทิศทางให้แน่นอนว่า จะให้ญาติผู้ใหญ่เข้ามามีอิทธิพลมากแค่ไหน พูดคุยกันว่าบ้านของคุณทั้งสองคนนั้นเป็นคนแบบใด และคุณให้ความสำคัญกับใครในบ้าน และใครที่คุณไม่ให้ความสนใจกับคำพูด หากคุณไม่ได้พึ่งพาอาศัยในส่วนขอค่าใช้จ่าย คุณก็จะหมดปัญหาในส่วนนี้ไปได้เปราะหนึ่ง เพราะคุณสามารถยื่นคำขาดไปได้เลยว่า “เจ้าบ่าว” ของคุณเป็นคนเสียค่าใช้จ่าย
อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจและค่อนข้างได้ผลคือ “งานหมั้น” ให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้รับผิดชอบ และ “งานเลี้ยง” ให้ฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบ วิธีนี้จะลดคการปะทะกันของครอบครัวทั้งสองฝ่ายได้อย่างดี แต่คุณจะต้องมีขอบเขตให้ครอบครัวของคุณเช่นเดียวกัน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคุณกับคนในครอบครัว
2. จำนวนแขก
ปัญหาชวนหัวแตกเช่นเดียวกัน และหากถ้าเจ้าสาวผ่านจุดนี้ไปได้ รับรองว่า คุณได้ผ่านการเป็น “ว่าที่เจ้าสาว” มาเกือบ 50 % แล้ว เพราะส่วนนี้เองจะเป็นตัวกำหนด การเตรียมงานต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในส่วนของจำนวนแขกโดยทั่วไป หากคุณไม่ชอบความวุ่นวายและต้องการเฉพาะเพื่อนฝูงคนสนิทจริงๆ ก็ควรจัดงานประมาณ 250-300 คน แต่หากคุณเป็นเจ้าสาวที่มาจากครอบครัวใหญ่ คุณจะต้องเจอปัญหาที่ครอบครัวต้องการเชิญแขกจำนวนมากๆ อย่าลืมว่าในงานเลี้ยงนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และหลายครอบครัวประสบปัญหาที่ฝ่ายชายมองว่า ฝ่ายหญิงเชิญแขกมากเกินไป ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเยอะ หากเป็นการจัดงานประมาณ 1,000 คน ขึ้นไป ก็มักไม่ค่อยประสบกับปัญหานี้เท่าไร
ในส่วนของจำนวนแขก ไม่ได้มีเฉพาะการกำหนดจำนวนแขกที่จะเชิญมาตามจำนวนการ์ดเท่านั้น เมื่อคุณแจกการ์ดไปแล้วก็ต้องมานั่งคิดอีกว่า จะมีแขกมาร่วมงานกี่คน !!! ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องยากมาก จะไปรู้ได้อย่างไรว่าการ์ด 1 ใบจะมากี่คนกันนะ ?? โดยตามประสบการณ์หากแจกการ์ดแต่งงานไป 500 ใบ ก็มีแขกมาร่วมงานประมาณ 350คน (นับจากการ์ด) แต่อย่าลืมว่าการ์ดบางใบจะมีผู้มางานเกิน 1 คน ยิ่งวันเสาร์ อาทิตย์ แล้วด้วย บางครั้งอาจจะมาเป็นครอบครัวทีเดียว
การรับมือกับปัญหานี้ เริ่มจากการพูดคุยตกลงกับเจ้าบ่าวของคุณก่อนว่า อยากจัดงานแบบกี่คน เมื่อกำหนดได้แล้ว ค่อยมาแบ่งส่วนกัน โดยส่วนมากงานหมั้นตอนเช้า ควรเชิญญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมาให้หมด และในช่วงงานเลี้ยงค่อยชวนเพื่อนฝูงมา
สำหรับการจัดเลี้ยงแบบคอกเทล หรือ บุฟเฟตฺ์ จะมีปัญหาสำหรับแขกมาเกินก็เพียงแค่การเพิ่มอาหารเท่านั้น โดยจะต้องตกลงกับทางเจ้าหน้าที่โรงแรมหรือสถานที่จัดงานให้ดีว่าจะให้ใครเป็นผู้ประสานงานในการสั่งเพิ่มอาหารได้ ไม่เช่นนั้น ยอดค่าใช้จ่ายออกมาอาจจะทำให้ตีลังกากันก็ว่าได้ หากเป็นการจัดงานแต่งงานแบบโต๊ะจีนหรืออาหารเซ็ต ค่อนข้างลำบากและต้องคำนวนและขอคอนเฟิร์มผู้มาร่วมงาน เนื่องจากต้องมีการเพิ่มโต๊ะเก้าอี้ด้วยด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ไม่ได้มีการคำนวนแบบตายตัว แต่พอจะประมาณคร่าวๆได้
3. เสื้อผ้า หน้า ผม
ผู้หญิงกับความสวยความงามเป็นของคู่กัน แถมยิ่งเป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตด้วยแล้ว หากเลือกไม่ดีอาจจะเป็นการทำร้ายตัวเองยกใหญ่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ การแต่งหน้า และทรงผมนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในความเป็นเจ้าสาว
การรับมือสำหรับเรื่องนี้ไม่ยาก แอดมินขอแนะนำว่า จงเป็นตัวเอง นั้นแหละดีที่สุด อย่าพยายามทำอะไรขัดกับความเป็นตัวเอง และอย่าพยายามคิดว่า “วันสำคัญ” ทั้งทีก็อยากเป็นเจ้าหญิง หรืออยากทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน เจ้าสาวหลายคนพลาดท่าตกม้าตายมาหลายคนเพียงเพราะอยากเป็นเหมือนคนนั้น เหมือนคนนี้ อย่าลืมว่าแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน และเมื่อทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง เรามักไม่มีความมั่นใจ ทำให้กังวลไปหมดทุกอย่าง การแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้นแบบนี้ จะทำให้เจ้าสาวเป็น “เจ้าหญิง” ที่สวยที่สุดอย่างแน่นอน สำหรับเรื่องทรงผมและแต่งหน้า ขอให้ลองแต่งดูซักสองสามครั้งและใช้ช่างที่เราเชื่อมือนั้นแหละดีที่สุด
4. เพื่อนเจ้าสาว
ประสบการณ์สดๆร้อนๆจากตัวเอง เมื่อจะต้องไปเป็นเพื่อนเจ้าสาวให้กับเพื่อนรัก ยิ่งใกล้วันงานแต่งงานเท่าไหร่ ความวุ่นวายของการเป็นเจ้าสาวก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น การสรุปงาน การเตรียมการ ยิ่งงวดเข้ามาทุกที เหล่าเพื่อนเจ้าสาวที่กระจายตัวอยู่ทุกมุมของโลกจะต้องแต่งตัวสีเดียวกัน ทำงานร่วมกันอีกครั้ง การพูดคุยในสมัยนี้ยังง่ายหน่อย เพราะมีโลกออนไลน์ที่เชื่อมโลกเข้าหากันคุยได้พร้อมกัน สำหรับคนที่ให้ผ้าเพื่อนไปตัดชุด ไม่ค่อยน่าปวดหัวเท่าไหร่ แต่เหล่าเจ้าสาวที่หาชุดจากร้านเช่าและต้องคอยถามไซส์เพื่อนนี่สิน่าเวียนแทนยิ่งหนัก แถมจะบรีฟงานกันอย่างไร หากต่างคนต่างไม่มีเวลาว่าง เหล่านางฟ้าจะได้มีเวลาพูดคุยกันอีกที ก็เกือบงานแต่งงานแล้ว
การแก้ปัญหา สำหรับชุดเพื่อนเจ้าสาว คือ ให้ผ้าพับเดียวกันไปต่างคนต่างตัดดีที่สุด เพื่อลดปัญหาในการมาตามไซส์ การโทรนัดให้ไปลอง เพราะการจับปูใส่กระด้งนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด แถมจะเอาให้พาหงุดหงิด ตัดเพื่อนกันไปก็ว่าได้ และเพื่อนเจ้าสาวบางคนอาจจะไม่ชอบแบบชุดที่มีอีกต่างหาก
5.ลำดับพิธีการ
ลำดับพิธีการในงานช่วงเช้า เช่น งานหมั้น งานยกน้ำชา งานรดน้ำสังข์ งานช่วงนี้ค่อนข้างมีพิธีรีตรองและถูกกำหนดด้วยฤกษ์งานยามดี แม้ว่าคนเคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว อาจจะไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนด้วยซ้ำ สำหรับช่วงงานเลี้ยงก็จะมีการเปิดตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว ด้วยพรีเซนเตชั่น จุดเทียน ตัดเค้ก รินแชมเปญ สัมภาษณ์ หรือจะอะไรก็ตามที่เป็นกิมมิคที่ทางเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องการ ส่วนงานเลี้ยงไม่ค่อยจะกดดันเท่ากับงานพิธีตอนเช้าเท่าไหร่ อาจจะกดดันบ้างเวลาสัมภาษณ์ หรือเจอใครเซอร์ไพรส์จนทำตัวไม่ถูก อย่าลืมว่าต่อให้อยากเป็นคนรันคิวเสียเอง เพราะกลัวความผิดพลาด ก็ไม่สามารถทำได้ ยิ่งหากให้เพื่อนกลุ่มที่จะเป็นเพื่อนเจ้าสาวนี้คอยทำหน้าที่เป็นออแกนไนซ์แล้วหละก็…อาจสร้างความวิงเวียนจนวันงานด้วยซ้ำไป
ในส่วนของการรันคิวแอดมินขอเตือนให้เป็นอุทาหรณ์ว่า หากได้เพื่อนแม้ว่าจะเป็นเพื่อนรักแสนรู้ใจแต่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำงานในรูปแบบการประสานงานหรือเคยจัดงานออแกนไนซ์ หรือเคยผ่านการเป็นเจ้าสาวมาก่อนรับรองได้ว่า “ล่ม” ไม่เป็นท่าอย่างแน่นอน เพราะงานแบบนี้ไม่ได้เป็นการง่ายเลยที่จะต้องประสานกันทุกด้านเพื่อให้งานสมูทพริ้วไหวดังใจคิด แนะนำว่าให้หาเพื่อนหรือคนที่มีประสบการณ์มาดูแลเรื่องการรันคิวจะดีกว่า ส่วนตัวของเจ้าสาวเองควรเป็นผู้กำหนดวางแผนลำดับขั้นตอนเพื่อให้ทราบว่าอะไรมาก่อนมาหลังเพื่อลดความตึงเครียด และให้ได้รู้ว่าหลังจากนี้ไปเราจะต้องทำอะไรต่อ
6. ความพร้อมของสถานที่จัดงาน
โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ และทีมงานมีความเข้าใจดีที่สุด ว่าลูกค้าทุกคนที่เลือกเรามาเป็นส่วนหนึ่งของงานแต่งงาน ได้คาดหวังถึงความสมบูรณ์แบบ มากกว่าจำนวนเงินที่ลูกค้าได้เสียไป ยิ่งโดยเจ้าสาวมีความคาดหวังอย่างมากที่จะให้วันสำคัญนี้เป็นวันที่น่าจดจำ เจ้าสาวหลายคนที่พยายามเข้ามาดูสถานที่หลายครั้งหลังจากได้ตกลงมัดจำจัดงานแต่งงานไปแล้ว และได้ปรึกษาหลายคนจนเกิดความสับสนกับความต้องการของตนเองในครั้งแรก และหลายคนที่ได้ตัดสินใจผิดพลาดเลือกเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่เห็นในงานแต่งงานของคนอื่น
วิธีการแก้ไข ที่แอดมินประสบมาเอง คือ เข้าไปพูดคุยกับทางโรงแรมในครั้งแรก ตัดสินใจเลือก พูดคุยรายละเอียดให้ชัดเจน โดยถามความต้องการของตนเองไปก่อนว่าอยากได้แบบไหนโดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนเลือกโรงแรม คือ ต้องรู้ว่าเราชอบอะไร และโรงแรมนั้นเชี่ยวชาญในสิ่งที่เราชอบหรือไม่ เมื่อพูดคุยตกลงรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ก่อนงานแต่งงานประมาณ 2 เดือน เข้าไปสรุปงานและรายละเอียดทั้งหมด ในส่วนการตกแต่ง โต๊ะ VIP ที่จอดรถ ประเภทอาหาร เพราะการที่เราเลือกโรงแรมนั้น เราต้องมีความเชื่อมั่นในโรงแรมนั้นพอสมควร หลังจากที่เข้าไปสรุปงานก็ปล่อยให้โรงแรมรับผิดชอบหน้าที่ และเจ้าสาวจะได้ไปเตรียมงานในส่วนอื่นต่อ