วันนี้แอดมินได้นั่งดูรายการ "Married at First Sight Australia" ซึ่งเป็นการทดลองของผู้ชาย ผู้หญิงที่ถูกจับคู่นัดเดท โดยนักจิตวิทยา และอ้างอิงตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ตอนแรกก็นั่งดูไปแบบผ่านๆไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ก็มาสะดุดจนต้องหันมาตั้งใจดู เมื่ออยู่ๆ คู่รักคู่หนึ่งมีปากเสียงกันรุนแรง และแล้วความสนใจก็บังเกิดให้เห็นวิธีการที่หนุ่มๆสาวๆ ควรจะมาไตร่ตรองก่อนแต่งงานว่า เราพร้อมแล้วหรือไม่
หากมองในโลกแห่งความจริง การที่คนสองคนมาจากคนละที่ มีสถานภาพทางสังคม ภาษา วัฒนธรรม และความรู้ที่ต่างกัน ต้องทำความรู้จักเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความผูกพันกัน รักกันและตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน โดยตามจารีตประเพณีสังคมไทย คือ "การแต่งงาน" เป็นเพียงบทเริ่มต้นของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจริงๆ โลกแห่งความจริงเพิ่งจะเริ่มขึ้น ลองกลับไปคิดดูว่าเป็นจริงหรือไม่
ตอนที่เพิ่งเริ่มคบกันเรียนรู้กัน ต่างคนต่างพยายามที่จะสร้างข้อดี และเรียนรู้ฝ่ายตรงข้ามเพื่อเอาใจให้ฝ่ายตรงข้ามสนใจเรามากกว่าคนอื่น ในช่วงนี้ต่างคนต่างระวังข้อเสียและไม่กระทำอะไรก็ตามที่อีกฝ่ายไม่ชอบ เมื่อจะออกไปพบหน้ากันมีแต่แต่งหน้าสวยงาม แต่งตัวเรียบร้อย รวมทั้งการปฏิบัติตัวด้วยกิริยามารยาทอันเหมาะสมที่สังคมยอมรับ
เมื่อเวลาผ่านไปจนแต่งงานและเลือกใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้ว ต่างคนต่างใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวเอง ให้ความสำคัญกับตัวเองโดยลืมไปว่า เราจะต้องแชร์การใช้ชีวิตร่วมกับอีก 1 ชีวิต กลายเป็นเวลาที่อยู่ด้วยกันกลับไม่ได้สร้างภาพอีกต่อไป โดยเมื่อจะแต่งตัวสวยงามกลับเป้นช่วงเวลาที่ต่างคนต่างเดินออกจากบ้านไปยังพื้นที่สาธารณะและกลับบ้านมาอีกครั้งด้วยภาวะทิ้งตัวอย่างหมดสภาพ เจอหน้ากันหงุดหงิดใส่กัน ภาวะเหล่านี้คือภาวะแห่งความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์
(Credit : http//weddinginspirasi.com)
แอดมินเลยนั่งฟังและเก็บไอเดียของรายการนี้มาเพื่อให้หลายคู่ที่กำลังจะตัดสินใจแต่งงานลองกลับไปมองว่าเราได้ผ่านบททดสอบเหล่านี้มาหรือยัง ถ้าผ่านมาแล้วเป็นแบบไหน เราได้มีเวลาคิดกับตัวเองหรือไม่ว่า ความเป็นจริงแล้ว เรารักกัน หรือเราแค่ผูกพัน เพราะการตัดสินใจแต่งงานเป็นเพียงบทเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ อย่าว่าแต่หลังจากการแต่งงานเลย ช่วงระยะเวลาในการเตรียมงานแต่งงานคุณก็จะต้องรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ หากคุณยังไม่เคยผ่านมา คุณจะแข็งแรงเพียงพอที่จะเจอบททดสอบทั้งหมดที่เดียวในระยะเวลาอันสั้นหรือไม่
(Credit : http://bridalguide.com)
ขอเล่าคร่าวในไอเดียของรายการนี้ก่อนว่า เริ่มจากการที่นัดเดทผู้ชายผู้หญิงให้เจอกันในโบสถ์ด้วยพิธีการแต่งงาน โดยทั้งสองไม่เคยเจอกันมาก่อน บททดสอบได้เริ่มขึ้นจากกคนสองคนต้องเริ่มเรียนรู้กันและกัน ช่วงเวลาหลังการแต่งงานเป็นการฮันนีมูนโดยให้ใช้ชีวิตร่วมกันเรียนรู้พฤติกรรม การกระทำและวิถีชีวิตของทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากนั้นก็ให้พาไปพบเพื่อนๆของแต่ละคน พบพ่อแม่ จนไปถึงให้แยกย้ายกันไปอยู่คนเดียว 1 เดือน และกลับมาตัดสินใจว่าจะสานสัมพันธ์ต่อหรือไม่ เมื่อตัดสินใจแล้ว หลังจากนั้น 2 เดือนก็จะมาคุยกันว่าความสัมพันธ์เป็นอย่างไรบ้าง บางคู่เลิกลากันไป และบางคู่ยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
กระบวนการที่เห็นชัดเจนสำหรับเรื่องนี้คือ
การเป็นคนแปลกหน้า >>การทำความรู้จักกัน>>การเรียนรู้กันและกัน>>ความผูกพัน>>
การอยู่กับตัวเอง >> การตัดสินใจ
'
(Credit : http://elizabethannedesigns.com)
1. บททดสอบของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
(Credit :http://heartloveweddings.com)
Honeymoon Period ช่วงเวลาแห่งความสุขในการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทำให้คนสองคนพยายามเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในช่วงแรกมักไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเวลาผ่านไปได้สักพัก บางฝ่ายกับรู้สึกว่าทำไมตนเองต้องเป็นฝ่ายถอยให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ตัวอย่างที่ 1 A แสดงอาการไม่พอใจที่Bให้ความสนใจกับฟาร์มกับสัตว์เลี้ยงโดยไม่สนใจตนเอง โวยวายและเลือกที่จะไม่ทน >> A เดินจากไป ในช่วงนี้เองการเรียนรู้ได้เริ่มขึ้นว่าการใช้ชีวิตเริ่มไม่ตรงกัน Aกลับไปตัดสินใจมาใหม่ว่า จะเลือกปรับเข้าหาB คนนี้เอง A เลือกจะขับรถมาให้เขาที่ฟาร์มเหมือนเดิม และปรับความเข้าใจกัน
(A =ผู้หญิง /ฺB=ผู้ชาย)
ตัวอย่างที่ 2 D ไปหา C ที่บ้านและแสดงอาการแปลกใจที่ C อยู่ในห้องร่วมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง และ C ได้เรียนรู้ว่าว่า D ชอบรับประทานอาหาร ชอบผู้หญิงแบบไหน ในส่วนนี้เอง C ไปที่บ้านของ D เพื่อเตรียมอาหารให้ พอ D กลับมาบ้านก็แปลกใจ ขณะที่รับประทานอาหารนนั้นก็ได้พูดคุยกันแต่แล้วจุดแตกหักอยู่ที่ C พูดว่า "ฉันรู้ว่าคุณอยากได้แม่บ้านมาคอยดูแล" D ออกอาการไม่พอใจและลุกออกจากบ้านขับรถออกไปด้านนอกทันที เมื่อถึงกลางคืน D กลับมาบ้านและปรับความเข้าใจกัน โดยอธิบายว่าไม่ได้ต้องการแม่บ้าน สุดท้ายคู่นี้มาถึงจุดแตกหักทะเลาะกันเพื่อหาที่ยืนในบททดสอบแรก คุยกันจนจบว่าอะไรได้แค่ไหน แอดมินขอสปอยเลยว่า คู่นี้ที่ดูไปไม่รอดกลับมีความรักที่แสนหวานผ่านอีก 3 บททดสอบอย่างง่ายดาย เพียงเพราะ D อธิบายใจความสำคัญว่า "การสื่อสารคือกุญแจสำคัญ หากรู้ปัญหาก็สามารถรับมือได้"
(C =ผู้หญิง /D=ผู้ชาย)
2.บททดสอบของการเรียนรู้สังคมของกันและกัน
(Credit :http://jennyyoo.com)
ช่วงเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องพาอีกฝ่ายไปพบกับสังคมที่ตนเองอยู่ ไปพบเพื่อนฝูงของตนเอง โดยให้ฝ่ายหญิงเป็นคนพาฝ่ายชายไปเรียนรู้ในสังคมของตน แม้ว่าจะดูเหมือนง่ายแต่กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้บางคู่ถึงกับตัดสินใจหันหลังกลับทันที ด้วยการสภาพสังคมที่ไม่เหมือนกัน เรื่องที่พูดคุย รวมไปถึงการใช้ชีวิตในสังคม บางคนอาจจะเป็นคนสันโดษ บางคนเป็นหนุ่มสาวสังคม หากต้องมาอาศัยใช้ชีวิตด้วยกัน ต้องบอกว่าอยากมากเป็นพิเศษ
ตัวอย่างที่ 3 E พาไปพบกับสังคมของ E ที่เพื่อนฝูงนั่งดื่มเหล้าพูดคุยในร้านสไตล์ผับแอนด์เรสเตอรอง F ออกอาการตื่นและรู้สึกไม่สบายตัวได้อย่างชัดเจน รวมถึงการแสดงอาการไม่มีความสุข โดย E ได้พูดคุยหยอกล้อกับเพื่อนในโต๊ะว่าจะแต่งงานกับคนที่เพิ่งรู้จัก F มีท่าทางเสมือนไม่ได้มีความสุขกับคำพูดเหล่านั้น และเมื่อกลับบ้าน F ได้ตัดสินใจคุยกับ E ว่าเราไม่สามารถไปด้วยกัน จุดแตกหักของคู่นี้เกิดขึ้นที่บททดสอบที่ 2
(E =ผู้หญิง /F=ผู้ชาย)
3.บทดสอบของการเรียนรู้ครอบครัวของกันและกัน
(Credit :http://brides.com)
ช่วงเวลานี้เชื่อว่าเกือบทุกคนเคยผ่านมา อาการกระอักกระอ่วนใจที่ต้องไปพบพ่อแม่ของอีกฝ่ายนั้นทำให้ทุกคนเกร็งอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการพบหน้ากันครั้งแรก หากไม่สวยงามแล้วหละก็ บอกได้เลยว่าการสานสัมพันธ์ของคุณมีปัญหาคาใจอย่างแน่นอน เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่สำหรับสังคมไทย แต่ก็ยังโชคดีที่สุดท้ายแล้วทุกอย่างจะจบด้วย "รักลูก" ลูกรักใครก็รักด้วย
ตัวอย่างที่ 4 B พา A ไปพบกับพ่อและแม่ ซึ่งเมื่อเปิดประตูบ้านมาพ่อแม่ให้การต้อนรับอย่างดี B ก็รู้สึกสบายใจที่สามารถไปด้วยกัน พูดคุยรับประทานอาหารค่ำเสร็จก็เข้าห้อง และก็มีปากเสียงกัน ด้วยความที่ต่างคนต่างไม่ยอมกัน และ A อยู่่ในสถานการณ์ที่อึดอัดเนื่องจากมาอยู่ในพื้นที่จำกัดและมีพ่อแม่ของ B อยู่
(A =ผู้หญิง /B=ผู้ชาย)
4.บททดสอบของการเรียนรู้ตัวเอง
(Credit : http//weddinginspirasi.com)
เชื่อหรือไม่ว่า บททดสอบสุดท้ายคือ "คีย์สำคัญ" ของการใช้ชีวิตคู่" เชื่อหรือไม่ว่า เราจะไม่ได้ยินคำว่า "ทัศนคติไม่ตรงกัน" และหย่าร้างกันหากได้กลับมาเรียนรู้หาคำตอบกับตัวเองก่อนจะแต่งงาน เคยมีใครสักกี่คนที่ขอกลับมาอยู่กับตัวเอง 1 เดือน เพื่อเรียนรู้ ข้อดี /ข้อเสีย ของการมีกันและกัน เรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองและหาคำตอบว่า "รัก" หรือ "ผูกพัน" เรียนรู้ว่า "คนรัก" หรือ "เพื่อนสนิท" บททดสอบนี้บังคับให้ต่างคนต่างกันไปอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่ติดต่อไม่พบเจอกัน และหลังจาก 4 สัปดาห์ให้กับมาตัดสินใจว่าจะสานความสัมพันธ์กันต่อหรือไม่
เกือบทุกคู่ตัดสินใจสานสัมพันธ์กันต่อ โดยได้คำตอบว่าอีกฝ่ายสำคัญกับตัวเอง และยอมรับที่จะปรับตัวเองเข้าหาอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น หลังจากวันที่ตัดสินใจได้ติดตามผลอีก 2 สัปดาห์ มี 1 คู่ได้เลิกลากันไป เพราะ เมื่อได้เริ่มสานสัมพันธ์กันแล้ว ต่างคนต่างใช้ชีวิตของตัวเองไม่มีเวลาให้กัน การใส่ใจกันลดน้อยลง
เรื่องราวทั้งหมดได้บทสรุปถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการใช้ชีวิตคู่หลังแต่งงานอันได้แก่ การสื่อสาร เมื่อมีปัญหาและไม่สื่อสารกันปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการแก้ไขกลายเป็นการปิดประตูใส่กัน และอีกฝ่ายก็โดนกันให้ออกจากพื้นที่ของอีกฝ่ายไปเรื่อยๆจนไม่เหลือความรู้สึกดี และ ระยะทางที่ไกลกัน มีผลทำให้การสานสัมพันธ์ที่เพิ่งเริ่มพัฒนาช้าลง
วันนี้อาจจะดูเคร่งเครียดมีสาระตามหลักจิตวิทยาการสื่อสารไปสักนิด แต่แอดมินก็เชื่อว่าจะทำให้คู่บ่าวสาวบางคู่มั่นใจกับการแต่งงานมากขึ้น หากคุณเคยผ่านบททดสอบเหล่านี้มาแล้วและตอบคำถามที่คุณมีข้อสงสัยได้จนหมด แอดมินขอเชียร์ให้เข้าประตูวิวาห์ได้เลยค่ะ
Chalita S.
ขวัญ